ประวัติไทเก็ก
|

ประวัติมวยไท่เก็ก

มวยไท่เก็ก

ประวัติไทเก็ก

วิชาการต่อสู้ที่ผมได้เรียนเป็นอันดับที่ 2 ต่อจากวิชามวยไทย ก็คือ วิชามวยไท่เก็กครับ โดยฝึกเรียนกับอาจารย์สมบัติ เป็นไท่เก็กตระกูลหยางครับ เรียนได้ไม่นานนักอาจารย์ท่านก็ย้ายไปอยู่ทางเหนือ แต่ก็ยังยึดถือท่านเป็นอาจารย์อยู่เช่นเดิมครับ

วิชามวยไท่เก๊ก หรือ ไท่เก๊กคุ้ง (จีนตัวเต็ม: 太極拳; จีนตัวย่อ: 太极拳; พินอิน: Tàijíquán) เรียกชื่อภาษาจีนแต้จิ๋วตามชาวไทยเชื้อสายจีน อ่านแบบจีนกลางว่า ไท่จี๋เฉวียน เขียนเป็นภาษาอังกฤษคือ Taijiquan หรือ Tai’chi Chuan แต่ในประเทศไทยเรียกกันหลายสำเนียงทั้ง ไท่เก๊ก ไทเก็ก ไท้เก๊ก ไท่จี๋ ไท้จี๋ ไทชิ ไทกิ๊บ

วิชามวยไท่เก๊กเป็นศิลปยุทธ์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน เชื่อกันว่าปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดมวยไท่เก๊กคือนักพรตชื่อ จางซานฟง (เตียซำฮงในภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งมีชีวิตอย่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 แต่วิชานี้มามีชื่อเสียงเอาในสมัยราชวงศ์ชิง โดยท่านหยางลู่ฉานซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดมวยไท่เก๊กตระกูลหยาง และภายหลังได้แพร่ขยายขจรขจายไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย (ตั่งเองเกี๊ยก) นำมวยไท่เก๊กมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 อาจารย์ต่งส่งบุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่งหูหลิ่ง (ตั่งโหวเนี่ย) มาเป็นครูมวยไท่เก๊กคนแรกในประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่ามวยไท่เก๊กในไทยนั้น สืบสายมาจากมวยไท่เก๊กตระกูลหยาง

ในปัจจุบัน มวยไท่เก๊กที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วไปมีอยู่มากมายหลายสาย หลายตระกูล ซึ่งสายมวยอันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันมีอยู่ 5 สายหลักคือ ไท่เก๊กตระกูลเฉิน, ตระกูลหยาง, ตระกูลอู่, ตระกูลอู๋ และตระกูลซุน ซึ่งภายหลังรัฐบาลจีนได้นำท่ามวยของทั้งห้าตระกูลมาเรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันลีลายุทธ์ด้วย นอกจากห้าตระกูลนี้แล้ว ภายหลังยังมีมวยไท่เก๊กตระกูลอื่นๆ ซึ่งแตกแยกย่อยไปจากห้าตระกูลนี้ รวมถึงยังปรากฏมวยไท่เก๊กประจำถิ่นอีกหลายๆ สายปรากฏออกมาอีกมากมาย หากไม่ว่าจะเป็นมวยไท่เก๊กสายใดตระกูลใด แม้ท่วงท่าจะแตกต่างกัน แต่ยังอิงเคล็ดความเดียวกัน และล้วนนับถือท่านจางซานฟงเป็นปรมาจารย์เช่นเดียวกัน

มวยไท่เก๊กมีลักษณะนุ่มนวล โอนอ่อน ผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวลื่นไหลต่อเนื่อง การหายใจสอดประสานไปกับการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งต้องตั้งจิตติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกายไปตลอดทำให้เกิดสมาธิ เนื่องจากไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ หรือการออกแรงกระแทก จึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บร่างกายได้น้อยเมื่อเทียบกับกีฬาที่ใช้แรงชนิดอื่นๆ ทำให้เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แม้แก่ชราอายุ 90-100 กว่าปีก็ยังฝึกฝนได้ ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ยังสามารถใช้เป็นศิลปะป้องกันตัวได้หากได้รับการฝึกฝนเพื่อใช้ต่อสู้ ในปัจจุบันไท่เก๊กมีผู้นิยมฝึกฝนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

มวยไท่เก็ก ในประเทศไทย

ในปีพ.ศ. 2498 ได้มีการรวมตัวกันในหมู่ผู้ที่เคยศึกษาหรือรู้จักกับมวยไท่เก๊กในประเทศไทย ก็ได้เดินทางไปเชิญอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย (ตั่งเอ็งเกี๊ยก) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงเรื่องมวยไท่เก๊ก และท่านเป็นศิษย์เอกผู้หนึ่งของท่านอาจารย์หยางเฉินฟู่หลานปู่ของท่านหยาง ลู่ฉานปรมาจารย์มวยไท่เก๊กตระกูลหยางเอง ท่านอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยท่านก็ได้เข้ามาสาธิตวิชามวยไท่เก๊กในประเทศไทย ซึ่งก็มีการบันทึกเป็นภาพยนต์ไว้ด้วย และภาพยนต์ดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาท่ามวยของท่านอาจารย์ต่ง อิงเจี๋ยกันในต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งจากการมาสาธิตครั้งนั้น ท่านอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยได้รับปากจะส่งอาจารย์สอนวิชามวยไท่เก๊กตระกูลหยาง ของท่านมาอยู่ที่เมืองไทยด้วย  และในปีถัดมาท่านก็ได้ส่งบุตรชายของท่านเองคืออาจารย์ต่งหู่หลิง (ตั่งโหวเนี่ย) หรือที่ครูมวยไท่เก๊กหลายๆ ท่านที่ทันได้เรียนกับท่านเรียกกันว่า โฮวซือ เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนมวยไท่เก๊กในประเทศไทย  ก็นับว่าเป็นการสอนวิชามวยไท่เก๊กกันในเมืองไทยแบบกึ่งสาธารณะอย่างเป็นทาง การเป็นครั้งแรก  ที่ผมเรียกว่ากึ่งสาธารณะเพราะในช่วงนั้นผู้ที่เรียนมักจะเป็นเหล่าคหบดี หรือผู้มีอันจะกิน เพราะท่านเก็บค่าเล่าเรียนค่อนข้างแพง  แต่คนไทยใจดีครับ ผู้ที่มีโอกาสได้เป็นศิษย์โดยตรงในรุ่นแรกๆ ของท่านอาจารย์ต่งหู่หลิงท่านก็ไม่ได้หวงวิชาความรู้ไว้กับตัว แต่ได้ถ่ายทอดออกมาโดยทั่วไป  ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าถ่ายทอดเป็นวิทยาทานด้วยซ้ำ เพราะท่านเหล่านั้นมักจะเป็นผู้มีอันจะกินและไม่ได้อาศัยการสอนมวยเพื่อยัง ชีพ  จนทำให้มวยไท่เก๊กตระกูลหยางแพร่หลายไปยังคนทั่วไป

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผู้ฝึกมวยไท่เก๊กตอนเช้าๆ อยู่ตามสวนสาธารณะ หรือลานกว้างต่างๆ แทบทุกแห่ง ในเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย  โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ เนื่องจากมวยไท่เก๊กนั้นมีรูปแบบการฝึกที่ไม่รุนแรง  สามารถฝึกฝนได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งยังช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง  ส่วนมากจึงนิยมนำมาฝึกฝนเพื่อสุขภาพมากกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชา ป้องกันตัว หรือวิชามวย  ซึ่งมวยที่ฝึกกันส่วนมากก็เป็นมวยไท่เก๊กตระกูลหยางที่สืบทอดมาจากท่าน อาจารย์ต่งหู่หลิงเกือบทั้งสิ้น

ต่อมาเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปโดยสะดวกขึ้น  อีกทั้ประเทศจีนเริ่มจะให้คนในจีนในประเทศเดินทางออกมาเยี่ยมเยียนญาติพี่ น้องใต่างประเทศได้มากขึ้น  ก็เริ่มมีอาจารย์สอนมวยไท่เก๊กอีกหลายๆ ท่านที่เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น  ในปี พ.ศ. 2536 ทางสมาคมไท่เก๊กแห่งประเทศไทยยังได้เดินทางไปเชิญท่านอาจารย์หลี่เว่ยหมิง ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมวยไท่เก๊กตระกูลอู่รุ่นที่ 6 นับจากท่านอู่อวี่เซียงมาพำนักอยู่ในประเทศไทย  อาจารย์หลี่เป็นแพทย์เปิดให้การรักษาแก่บุคคลทั่วไปด้วยการใช้ลมปราณ และยังได้ถ่ายทอดวิชามวยไท่เก๊กตระกูลอู่แก่ผู้สนใจเป็นอันมาก  จนกระทั่งมีการก่อตั้งเป็นชมรมมวยไท่เก๊กสกุลอู่แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอาจารย์มวยไท่เก๊กอีกมายมายหลายท่านที่เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งมาพำนักกับลูกหลานเป็นครั้งคราว หรือมาประกอบอาชีพอยู่เป็นหลักแหล่งเป็นการถาวร และได้สอนมวยไท่เก๊กสายต่างๆ อีกไม่น้อย  โดยเฉพาะในสวนลุมพินีฯ กรุงเทพฯ กล่าวกันว่าเป็นแหล่งซุ่มเสือซ่อนมังกร  ครูมวยต่างจากจากทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศแวะเวียนไปมาอยู่เสมอ

ถึงปัจจุบัน  จะมีผู้ฝึกมวยไท่เก๊กรวมตัวกันในวันไหว้ปรมาจารย์จางซานฟง ซึ่งถือกันว่าเป็นปรมาจารย์แห่งวิชามวยไท่เก๊ก จัดขึ้นในสมาคมแต้จิ๋วทุกปี  ซึ่งก็มมีการสาธิตและข่งขันมวยไท่เก๊กจากชมรมหรือสำนักมวยต่างๆ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

ขอบคุณบทความจาก http://www.fajing.net/

Similar Posts

ใส่ความเห็น