การป้องกันตัวไม่ผิดกฏหมาย
คนฝึกศิลปะการต่อสู้ คงจะมีคำถามนี้ในใจบ้างละครับ ว่าถ้าหากว่าเราเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว ถ้าหากว่าเราป้องกันตัว เราจะผิดกฏหมายมั้ย เรามาลองดูข้อมูลจากสภาทนายความกันดีว่าครับ
วันนี้ เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับกฎหมายอาญาในเรื่องที่สำคัญกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า เห็นข่าวปล้นจี้กันเยอะหรือเกิน เมื่อก่อนมักนิยมปล้นจี้กันแถวที่เปลี่ยวปลอดคน
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ครับ ขนาดบนสะพานลอยที่คนจอแจพลุกพล่าน แทบจะเดินชนกันตาย พี่แกก็ยังใจกล้า หน้าด้าน ไร้ยางอาย ไม่มีสมบัติผู้ดี จี้ชิงทรัพย์กัน หน้าตาเฉย เลวมาก พอถูกจี้ปล้นไปแล้ว กว่าผู้เสียหายจะไปแจ้งตำรวจ หรือคนมาพบศพ…เอ้ย…ร่างกายที่สะบักสะบอมของท่าน ได้ผู้ร้ายตัวดีมันก็เผ่นหายไปแล้วก็ไม่รู้
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการจี้ชิงทรัพย์ อาชญากรรมต่าง ๆ ผู้เขียนเห็นว่าการพึ่งตำรวจอย่างเดียวคงไม่พอ ควรต้องพึ่งตนเองด้วย ดังคำพระท่านว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
มาดูกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยดีกว่า…
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ บัญญัติว่า “ผู้ ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
ถ้าอ่านข้อความข้างบนแล้วยังไม่รู้เรื่อง ผู้เขียนจะอธิบาย
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นเรื่องที่รัฐ ให้สิทธิในการป้องกันตนเองแก่ประชาชนต่อภัยที่เกิดขึ้นโดยกระชั้นชิดและ ละเมิดต่อกฎหมาย โดยรัฐถือว่าการกระทำโดยป้องกันดังกล่าวแม้จะเกิดความเสียหายบ้าง หากเป็นความเสียหายที่สมควรแก่เหตุ ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด การที่รัฐให้สิทธิแก่ประชาชนเช่นนี้ เพราะภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนพลเมืองนั้น เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่บนสะพานลอยหรือกระทั่งใต้สะพายลอย ดังนั้น บางครั้งบางเวลาบางสถานที่ รัฐก็อาจจะให้ความคุ้มครองได้ไม่ทั่วถึง จึงให้ผู้ประสบอันตรายจากภัยนี้ ป้องกันตัว ให้พ้นจากภัยนั้น ๆ ไปก่อนได้
แต่ ที่สำคัญคือการป้องกันตนเองนั้น ต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงจะพ้นความผิด ไม่ใช่ใครมองหน้าหน่อย ก็ไปไล่เตะเขา หรือยกพวกไปตีเขา อ้างว่าป้องกันชื่อเสียงของสถาบัน อย่างนี้ ก็ตารางสิครับท่าน….
หลักเกณฑ์ของการ ป้องกันตัว โดยชอบ ด้วยกฎหมาย
๑. มี ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย นั่นคือ ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายจะทำได้ หากผู้ก่อภัยนั้นมีอำนาจทำได้โดยชอบ ท่านก็ไม่มีสิทธิจะป้องกัน เช่น เมื่อท่านทำผิดกฎหมายและตำรวจจะเข้ามาจับท่าน ท่านจะอ้างว่ามีภยันตรายเกิดขึ้น และขอป้องกันด้วยการกระทืบตำรวจที่มาจับไม่ได้ หรือท่านไปหาเรื่องทำร้ายชกต่อยคนอื่นเขา พอเข้าเกิดฮึดสู้ขึ้นมาเอาคืนบ้าง ท่านก็เลยถือโอกาสว่ามีภยันตรายเกิดขึ้นแล้ว เลยใส่สารพัด (ทั้งบาจา ไนกี้ คอมแบท ฯลฯ) แล้วอ้างว่าที่ยำ…เอ้ย..ทำไปเพราะป้องกันตนเองจากการฮึดสู้ของมัน อย่างนี้ ไม่ได้เลยนะครับ…ท่าน จะมีสิทธิป้องกันก็ต่อเมื่อภยันตรายที่เกิดนั้น ท่านไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น และเป็นภยันตรายจากการกระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำเช่นนั้นต่อท่านได้ ….เอ้า…ดูกรณีตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกาสักเล็กน้อย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๑/๒๕๒๘ น. ๖๗๔ การวิวาทหมายถึงการสมัครใจเข้าต่อสู้ ทำร้ายกันหากฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำแก่อีกฝ่ายหนึ่งจะกระทำโต้ตอบกลับไปโดยอ้าง ป้องกันมิได้ เพราะตนมีส่วนผิดในการที่สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กันเสียแล้ว
๒. ภยันตรายนั้น ใกล้จะถึง แม้ท่านจะมีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้น
ตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม ก็อย่าเพิ่งนอนใจว่าท่านจะมีสิทธิป้องกันได้ กล่าวคือท่าน จะมีสิทธิ ป้องกันตัว ได้ต่อเมื่อภยันตรายนั้น เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือภัยที่เกิดขึ้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่ไม่มีหนทางอื่นที่จะขจัดปัดเป่าภัย นั้นได้ นอกจากการป้องกันตัวเอง เช่น ท่านถูกจี้ชิงทรัพย์บนสะพานลอยแสนเปลี่ยวไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แถวนั้น ท่านย่อมสามารถป้องกันตนเอง(ป้องกันตัว)ได้ แต่ถ้าท่านกำลังเดิน ๆ อยู่ เห็นคนไม่น่าไว้ใจเดินสวนมา คิดในใจว่าเขาต้องมาจี้เอาทรัพย์จากท่านแน่ ๆ ท่านเลยเข้าไปตื้บเขาเสียก่อน เช่นนี้ ท่านจะอ้างป้องกันตนไม่ได้ เพราะแม้เขาจะมีเจตนามาชิงทรัพย์ท่านจริง ๆ แต่เขายังไม่ได้ทำอะไรท่านเลยแค่เดินอยู่เฉย ๆ จึงถือว่าภยันตรายนั้นยังไม่ใกล้จะถึง ท่านควรรีบแจ้งตำรวจให้จับเขาแทนที่จะลงมือเสียเอง หรือเขาชิงทรัพย์ไปจากท่านแล้ว หนีไปจนพ้นกลับไปกินข้าวกับเมียแล้ว ท่านจะติดตามไปเจอ ท่านก็ต้องเรียกตำรวจจับ จะจัดการเสียเอง โดยอ้างป้องกันไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะภัยตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึงอีกเช่นกัน
๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นจากภยันตรายนั้น อันนี้
ไม่ยากอะไร เมื่อ มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายกัน ใกล้จะถึงดังที่กล่าวตามข้อ ๑ และ ๒ แล้ว ท่านก็สามารถป้องกันตนเองได้ ตามแต่สถานการณ์ อันนี้ผู้เขียนสอนไม่ได้ ท่านผู้อ่านต้องหาความรู้เอาเอง จากบรรดาครูมวยต่าง ๆ หรือจะใช้เครื่องทุ่นแรงก็ได้ไม่ว่ากัน จะเป็นมีด ไม้หน้าสาม สเปรย์พริกไทย หรือสากกะเบือ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันดังกล่าวต้องทำไปพอสมควรแก่เหตุ อย่างไรจะถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุตามมาดูข้อ ๔…
๔. การกระทำ ป้องกันตัว ตามสมควรแก่เหตุ ก็คือ แม้กฎหมายจะให้สิทธิแก่ประชา ชนผู้ประสบอันตรายป้องกันตนเองได้ แต่ก็ไม่ได้ให้เสียจนหาขอบเขตไม่ได้ จนกลายเป็นการป้อง กันผสมกับความโกรธแค้น บันดาลโทสะ หรือสะใจ เช่น ท่านกำลังเดินอยู่บนสะพานลอย มีคนขี้ยาคนหนึ่งเอามีดมาจี้เอวท่าน ขู่เข็ญให้ท่านส่งทรัพย์ให้ โอเค…ตามกรณีนี้ท่านมีสิทธิป้องกันตนเองได้ เพราะมีภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดกฎหมาย เป็นภยันตรายที่กระชั้นชิดแล้ว เอาละครับ ! ตอนนี้ท่านมีสิทธิที่จะใส่มันได้อย่างเต็มที่เลย ตุ่บ…. พลั่ก….พลั่ก…โป๊ก…โป๊ก…เอ๋ง…หลังจากที่ท่านใส่มันจนหมอบแทบเท้าท่านแล้ว อย่า ! ซ้ำเป็นอันขาด เพราะทันทีที่ไอ้เลวนั่น มันหมอบหรือหนีไปแล้ว ถือว่าภยันตรายนั้น ได้ผ่านไปแล้ว ท่านต้องเรียกตำรวจมาดำเนินการต่อ มิฉะนั้น การป้องกันของท่านจะกลายเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จนท่านอาจต้องเข้าไปอยู่ในตะรางเป็นเพื่อนมันก็ได้ ( หากท่านตื้บซ้ำจนมันตาย แม้ท่านจะคิดว่าไอ้….นี่มันสมควรตายก็ตาม ท่านจงเก็บความแค้นนั้นไว้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายที่จะดำเนินการกับมัน อะ..มิต…ตะ…พุดดดด…. เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรนะโยม)
อาจมีบางท่านสงสัยว่า กรณีที่ท่านไม่เป็นมวย แต่มีเครื่องทุ่นแรง ท่านจะใช้มันได้ขนาดไหนเพียงไรนั้น เรื่องนี้ มีทฤษฎีที่สำคัญ 2 ทฤษฎีคือ
1. ทฤษฎี ส่วนสัด คือต้องพิจารณาว่าอันตรายที่จะพึงเกิดขึ้นถ้าหากจะไม่ป้องกัน จะได้ส่วนสัดกับอันตรายที่ผู้กระทำได้กระทำเนื่องจากการป้องกันนั้นหรือไม่ เช่น มีคนมาตบหน้าท่าน ท่านจะใช้มีดแทงเขาตายไม่ได้ เพราะความเจ็บเนื่องจากการถูกตบหน้า เมื่อมาเทียบกับความตายแล้ว ไม่ได้ส่วนสัดกัน ดังนั้น การเอามีดแทงเขาตายนี้ เป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ ผู้กระทำไม่มีอำนาจกระทำได้
2. ทฤษฎี วีถีทางน้อยที่สุด ตามทฤษฎีนี้ถือว่าถ้าผู้กระทำได้ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตราย ก็ถือว่าผู้กระทำได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุแล้ว เช่น ก. เป็นง่อยไปไหนไม่ได้ ข. จึงเขกศรีษะ ก. เล่นโดยเห็นว่า ก. ไม่มีทางกระทำตอบแทนได้เลย นาย ก. ห้ามปรามเท่าใด ข. ก็ไม่เชื่อฟัง ถ้าการที่ ก. จะป้องกันมิให้ ข. เขกศรีษะทีวิธีเดียวคือใช้มีดแทง ข. ต้องถือว่าการที่ ก. ใช้มีดแทงนี้เป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันได้
แล้วท่านอาจสงสัยว่า ความเห็นตามทฤษฎีที่ไม่ตรงกันนี้ ท่านควรยึดถือตาม
ทฤษฎีไหน ผู้เขียนขอตอบว่า ไม่รู้…แล้วแต่ดวงละกัน…เพราะ ผู้เขียนไม่อาจไปรู้ใจศาลท่านได้ว่าท่านจะยึดตามทฤษฎีไหน การพิจารณาว่าการกระทำแค่ไหนเป็นการสมควรแก่เหตุนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่าน ผู้เขียนบอกได้แต่เพียงว่า อย่า !!! ซ้ำ อย่า !!! ทำ เพราะความโกรธแค้น รับรองว่าศาลท่านปราณีแน่นอน
แต่ถ้าท่านพลั้งมือเล่นมันหนักเกินไป หรือเผลอซ้ำไปแล้วล่ะ ทำไงดี อันนี้ผู้เขียนก็แนะนำได้แต่เพียงว่าถ้าที่ท่านทำไปนั้น ปราศจากความแค้นส่วนตัว แต่เป็นการพลั้งมือ การกระทำของท่านย่อมเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่าใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุนั้น เกิดขึ้นเพราะความตื่นเต้น ตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
อย่างไรก็ตามแม้ท่านผู้อ่านจะมีสิทธิป้องกันตนเองก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นว่ากรณีที่ควรป้องกันก็คือท่านอยู่ในฐานะเป็นต่อไอ้พวกมารสังคมอย่างมากชนิด เซียนมวยให้ ๑ ต่อ ๑๐ เช่น มันมามือเปล่า ท่านมีมีด หรือมันมีมีด ท่านมีปืน มันมีคนเดียวสองเท้า ท่านมี ๕ คน ๑๐ เท้า จึงอาจน่าจะเสี่ยงป้องกันดู หากไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านอย่าฝืนป้องกัน ให้ยอม ๆ ไปเถอะ ทรัพย์สินนอกกายหาใหม่ได้ แต่แขนขาของท่าน ถ้าขาดหายไปหรือโดนเสียบจนพรุนแล้ว คงหาใหม่ได้ยาก
ขอขอบคุณ ข้อมูลการ ป้องกันตัว จาก “สภาทนายความ”