เปิดตำนานยุทธจักร 5 สำนักมวย
วันนี้ขอพาไปทำความรู้จักกับนักศิลปะการต่อสู้ 5 คน ซึ่งไม่อาจกล่าวได้หรอกว่า พวกเขาคือสุดยอดฝีมือชนิดไร้เทียมทาน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือพวกเขาได้สร้างคุณประโยชน์และวางรากฐานให้แก่วงการศิลปะการต่อสู้ของไทยในศาสตร์ที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ
พวกเขาทุ่มเทเรี่ยวแรงเพื่อเผยแพร่ความรู้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเลยก็ตาม แต่นักสู้ก็คือนักสู้ ไม่ว่าจะบนสังเวียนหรือนอกสังเวียน ความปราชัยโดยไม่สู้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเลือก
อนันต์ ทินะพงศ์ หรืออาจารย์อนันต์
เกิด-28 มกราคม 2501
ภูมิลำเนา-กรุงเทพมหานคร
ศิลปะการต่อสู้-วิงชุน (Wing Chun) หรือหย่งชุน
จุดเด่น-วิงชุนเป็นมวยที่เน้นใช้ความอ่อนสยบความแข็ง ขณะเดียวกันก็มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ใช้ระยะที่สั้นที่สุดจากศูนย์กลางร่างกายโจมตีคู่ต่อสู้ และมีการดักมือเป็นเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่ง
เพราะที่บ้านเป็นค่ายมวย อาจารย์อนันต์จึงคุ้นเคยกับทั้งมวยไทยและมวยจีน หลังจากที่เรียนจบ มศ.5 ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ และได้พบกับ โรเบิร์ต ชู เพื่อนซึ่งกลายมาเป็นผู้ถ่ายทอดมวยวิงชุนแก่เขาในภายหลัง และเป็นมวยวิงชุนสาย ยิปมัน ปรมาจารย์มวยวิงชุนผู้มีชื่อเสียงและเป็นอาจารย์มวยของบรู๊ซ ลี
เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย ด้วยความตระหนักในคุณค่าและประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยวิงชุน ซึ่งอาจารย์อนันต์ได้ค้นคว้าและตั้งสมมติฐานว่าอาจมีนักมวยวิงชุนที่สู้รบร่วมอยู่ในกองทัพของพระเจ้าตากเมื่อครั้งอดีต ทำให้เขาตั้งใจเผยแพร่มวยวิงชุนเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง โดยเริ่มต้นค้นหาลูกศิษย์ที่สวนลุมฯ และยังคงสั่งสอนลูกศิษย์มาตลอด 30 กว่าปี และต้องถือว่าเขาคือคนแรกที่นำมวยวิงชุนเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย
อาจารย์อนันต์บอกว่าวิงชุนแปลว่าผลิบานตลอดกาล ความมุ่งมั่นในการเผยแพร่วิชาของเขาก็เพื่อให้มวยวิงชุนผลิบานตลอดไป 30 กว่าปีที่เผยแพร่วิชา มีลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์จำนวนหนึ่งที่ออกไปถ่ายทอดมวยวิงชุน จนทำให้มวยวิงชุนเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในเมืองไทย
“หลักการของมวยวิงชุนคือการหยุดหมัด อาศัยหลักเส้นตรงที่สั้นที่สุดระหว่างเรากับคู่ต่อสู้ และการที่ลูกหลานไทยได้เรียนมวย ถือเป็นเรื่องดี มวยสามารถขัดเกลานิสัยคนได้ เพราะการที่คนเราจะเรียนมวยได้ต้องมีวินัย”
ณปภพ ประมวญ หรือครูแปรง
เกิด-1 กันยายน 2501
ภูมิลำเนา-จันทบุรี
ศิลปะการต่อสู้-มวยไชยา
จุดเด่น-มวยไชยาเป็นมวยที่มีความรัดกุมสูง มีท่าครูที่เหนียวแน่น ออกอาวุธคม โดยเฉพาะอาวุธสั้นอย่างศอกและเข่า มีการป้องกันและการโจมตีอยู่ในจังหวะเดียวกัน อีกทั้งยังมีการทุ่ม ทับ จับ หัก ที่สูญหายไปจากมวยไทยยุคปัจจุบัน
เติบโตท่ามกลางกลิ่นอายนักเลงลูกทุ่งเมืองจันท์ คติแบบนักเลงโบราณจึงซึมอยู่ในสายเลือด บวกกับความสนใจเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างพระยาพิชัยดาบหัก นายขนมต้ม ครูแปรงจึงขวนขวายที่จะเรียนมวยคาดเชือกแบบดั้งเดิม แต่เมื่อยังไม่พบครูที่จะถ่ายทอดวิชา จึงอาศัยการเตะต่อยกระสอบแบบครูพักลักจำ
จนชีวิตวัยหนุ่มมีโอกาสเข้ากรุงมาศึกษาต่อ จึงออกแสวงหาวิชาและฝึกฝน แต่ก็ยังเหมือนไม่ค้นพบสิ่งที่ตามหา กระทั่งวันหนึ่งได้พบเห็นนักศึกษารุ่นน้องจดมวยด้วยท่าทางแปลกๆ ถามไถ่ได้ความว่ามันคือมวยไชยา มีคำโบราณกล่าวว่า ‘เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็จะปรากฏ’ ในที่สุด ครูแปรงก็ได้กราบ ครูทองหล่อ ยาและ ซึ่งเป็นศิษย์ของปรมาจารย์มวยไทย เขตร ศรียาภัย เป็นครูมวย และศึกษามวยไชยาจนแตกฉาน
ด้วยความรู้สึกที่ว่ามวยไชยามีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นมรดกล้ำค่าของไทย ครูแปรงจึงเผยแพร่มวยไชยาอย่างมุ่งมั่นมาตลอด 30 ปี โดยที่ภาครัฐแทบไม่เคยให้ความช่วยเหลือ เจอแรงเสียดทานรอบด้าน แต่ถึงที่สุด ผลจากน้ำพักน้ำแรงก็แตกดอกออกผลส่งให้มวยไชยาเป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เกิดเป็นมูลนิธิมวยไทยไชยา และยังตั้งใจจะสานต่อให้เกิดเป็นสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับมวยไชยาโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนามวยไชยาให้ได้มาตรฐานต่อไป
“มีเป้าหมายว่าจะเผยแพร่จนกว่าจะตายไป แต่เราก็สั่งไว้ว่าถึงเราตายไป มูลนิธิก็ยังอยู่ วิชาก็จะต้องถูกสืบทอดต่อไป”
Adam Shahir Kayoom
เกิด-22 ตุลาคม 2520
ภูมิลำเนา-ออสเตรเลีย
ศิลปะการต่อสู้-บราซิลเลี่ยน ยิวยิตสุ (Brazilian Jujitsu-BJJ)
จุดเด่น-บีเจเจมุ่งเน้นการนำคู่ต่อสู้ลงพื้นซึ่งเป็นภาวะที่คนเราไม่คุ้นเคยในการป้องกันตัว มีเทคนิคโดดเด่นที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อต่อสู้บนพื้น (Ground Fight) ผสมผสานกับการใช้หลักโมเมนตัมและการจัดสมดุลร่างกาย คนตัวเล็กก็สามารถล้มคนตัวใหญ่กว่าได้ไม่ยาก
อดัมเคยเรียนศาสตร์อื่นมาก่อน แต่การเข้าไปช่วยเพื่อนจากการวิวาทครั้งนั้น แม้อดัมสามารถทุ่มคนคนหนึ่งได้ แต่ก็ถูกอีกคนหนึ่งลากไปแล้วขึ้นคร่อมทับ ดีว่าเพื่อนของเขามาช่วยได้ทันก่อนถูกประเคนกำปั้น เกิดเป็นคำถามคาใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะหลุดจากตำแหน่งที่โคตรเสียเปรียบนี้ได้ การค้นหานำเขามาพบบราซิลเลี่ยนยิวยิตสุหรือบีเจเจ เมื่อได้เรียนรู้การต่อสู้ในรูปแบบที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ความตื่นเต้นเปลี่ยนเป็นความหลงใหล 12 ปีจากสายขาวสู่สายดำ วันนี้ เขาคือผู้ฝึกสอนบีเจเจสายดำคนเดียวในเมืองไทย ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ในการเลื่อนสายให้แก่ผู้ฝึกบีเจเจในเมืองไทย
4 ปีที่อดัมเดินทางเข้ามาสอนบีเจเจในเมืองไทย เขาคิดว่าวงการบีเจเจบ้านเราพัฒนาไปได้ค่อนข้างดี และสิ่งหนึ่งที่เขาชื่นชมคือหัวใจความเป็นนักสู้ของคนไทยที่สมดุลกับความอ่อนน้อมถ่อมตน สู้ สู้จริง แพ้กี่ครั้งก็ยังยืนยันที่จะสู้และพัฒนาฝีมือตัวเอง เมื่อลงจากสังเวียนความอ่อนน้อมก็ไม่หายไป
“การเลื่อนสายในบีเจเจจะเน้นการสู้จริง การแข่งขันจริง มากกว่าการสอบ แต่ละสายที่คุณขึ้นมา คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณเหมาะสมกับสายที่คุณคาด จากตำแหน่งเดียวกัน ถ้าคุณใช้เทคนิคนี้ช้าเกินไป จะทำยังไง ถ้าคู่ต่อสู้ขัดขืน จะทำยังไง ถ้าคู่ต่อสู้เร็วกว่า ช้ากว้า จะทำยังไง ถ้าใช้เทคนิคเดียวกันกับคนที่มีรูปร่างต่างกัน คุณจะทำยังไง เพราะคู่ต่อสู้ของคุณจะสู้กลับตลอดเวลา”
Tetsuo Sadahiro
เกิด-21 กรกฎาคม 2485
ภูมิลำเนา-ญี่ปุ่น
ศิลปะการต่อสู้-คาราเต้ สายโกจูริว
จุดเด่น-โกจูริวคาราเต้ เป็นคาราเต้ที่ผสมผสานระหว่างความแข็งแกร่งและความอ่อนนุ่มเข้าด้วยกัน เน้นการเคลื่อนไหวแบบวงกลม ระยะจู่โจมสั้น และให้ความสำคัญกับการควบคุมลมหายใจ
อาจารย์ซาดะฮิโร่ โกจูริวคาราเต้สายดำ ดั้ง 7 ในวัย 67 ปี แสดงกาต้าหรือการรำมวยของคาราเต้ในชุดที่เรียกว่า ซานชิน ให้ชม ซึ่งว่ากันว่าเป็นท่ารำที่ง่ายไม่ซับซ้อน แต่ยากที่สุด เพราะต้องควบคุมลมหายใจตลอดเวลาและกล้ามเนื้อจะเกร็งแกร่งทั่วร่าง
คาราเต้ในโลกแบ่งเป็น 5 สายหลักคือโชโตกัน โกจูริว ชิโตริว วาโดริว และเคียวคุชินไค ซึ่งในเมืองไทยจะมีฝึกอยู่ 2 สายหลักคือโชโตกันและโกจูริว อาจารย์ซาดะฮิโร่ฝึกโกจูริวคาราเต้ตั้งแต่อายุ 16 จนถึงปี 2509 อาจารย์ของอาจารย์ซาดะฮิโร่ซึ่งมาเปิดสอนโกจูริวคาราเต้ในเมืองไทย และได้ขอให้เขามาเป็นผู้ฝึกสอนที่เมืองไทยขณะอายุได้ 22 ปี และยังคงฝึกสอนตราบจนปัจจุบัน
อาจารย์ซาดะฮิโร่เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการวางรากฐานโกจูริวคาราเต้ในเมืองไทย มีการเชิญอาจารย์คาราเต้จากญี่ปุ่นมาสอน ซึ่งเขามองว่าวงการคาราเต้เมืองไทยพัฒนาไปกว่าอดีตมาก ดูได้จากการเชิญอาจารย์จากญี่ปุ่นยุคนี้ต้องเชิญสายดำที่สูงกว่าดั้ง 4 ขึ้นไป เพราะนักกีฬาของไทยเองก็สายดำดั้ง 3 อยู่แล้ว แต่เขาก็ติงว่านักกีฬาคาราเต้ของไทยยังมีประสบการณ์การแข่งขันน้อยซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องส่งเสริมต่อไป
“การแข่งขันในคาราเต้จะหยุดก่อนกระทบเป้าหมาย ให้เป็นที่รู้เอาไว้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ สิ่งสำคัญที่สุดของคาราเต้คือคุณจะสามารถควบคุมตัวเอง ควบคุมเทคนิค ควบคุมจิตใจได้หรือไม่”
มัลลิกา ขัมพานนท์ หรืออาจารย์มัลลิกา
เกิด– 2 เมษายน 2479
ภูมิลำเนา-กรุงเทพมหานคร
ศิลปะการต่อสู้-เทควันโด
จุดเด่น-เทควันโดจัดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ แต่มีเทคนิคการใช้ขาอันเป็นเอกลักษณ์ โจมตีรวดเร็ว และโดดเด่นที่สุดศาสตร์หนึ่ง
ปัจจุบัน อาจารย์มัลลิกาอายุ 73 ปี สอบเลื่อนวิทยฐานะจากนักเทควันโด สายดำ ดั้ง 7 เป็นดั้ง 8 เมื่อตอนอายุ 71 ปี วันหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่อยู่บนรถประจำทาง เธอได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งป้องกันตัวจากคนร้าย 2 คน เกิดเป็นแรงบันดาลใจ และพยายามค้นหาศาสตร์ที่เหมาะสมกับตนเอง จนค้นพบเทควันโดซึ่งในยุคนั้นยังไม่แพร่หลาย
อาจารย์มัลลิกาเริ่มฝึกเทควันโดตอนอายุ 35 ปี เทียบกับยุคนี้ต้องถือว่าเริ่มช้ามาก แต่ร่างกายและอายุไม่สำคัญเท่าขนาดของหัวใจ ด้วยความสม่ำเสมอและซ้อมหนัก เพียงเวลาไม่นาน จากสายขาวก็ขึ้นสู่สายดำ
วันหนึ่ง ลูกๆ ของเพื่อนก็ขอให้อาจารย์มัลลิกาช่วยฝึกสอนให้ แต่เกิดปัญหาว่าเมื่อไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ การสอนก็เหมือนเป็นการเปิดโรงเรียนเถื่อน นั่นเป็นที่มาให้เธอตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนเทควันโดแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อว่าโรงเรียนศิลปะป้องกันตัวอาภัสสา ซึ่งได้สร้างนักกีฬาประดับวงการไว้ไม่น้อย
ด้วยความตั้งใจที่จะผลักดันให้ลูกศิษย์ได้แข่งขันเพื่อหาประสบการณ์และประกาศฝีมือคนไทย อาจารย์มัลลิกาจึงต้องขับเคลื่อนด้วยตนเองอีกครั้ง จนสามารถก่อตั้งสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ
“ตอนที่เริ่มฝึกก็คิดนะว่าเราจะไหวเหรอ อายุขนาดนี้แล้ว แต่พอเห็นรูปที่คนเกาหลีอายุ 80 ก็ยังเรียนกันเป็นการออกกำลังกาย ดิฉันจึงคิดว่าอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญ อยู่ที่ใจว่าจะสู้หรือไม่สู้”
…….
ภาพยนตร์เรื่อง ‘Fearless’ ที่ Jet Lee แสดงเป็นปรมาจารย์มวยจีน ฮั้วหยวนเจี่ย มีฉากหนึ่งที่ฮั้วหยวนเจี่ยจิบชาร่วมกับนักศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น ผู้ที่จะเป็นคู่ต่อสู้ของเขาในวันรุ่งขึ้น ทั้งคู่คุยกันเรื่องชา ฮั้วหยวนเจี่ยบอกว่าชาก็คือชา มนุษย์เราต่างหากที่แบ่งแยกใบชาว่าชานี้ดี ชานั้นไม่ดี
…ก็เหมือนกับศิลปะการต่อสู้ ฮั่วหยวนเจี่ยเชื่อว่าศิลปะการต่อสู้ทุกชนิดล้วนมีความโดดเด่นในแบบของตน ไม่มีศาสตร์ไหนดีกว่าหรือด้อยกว่า
เรียนในสิ่งที่รัก ฝึกซ้อม ขัดเกลาตัวเอง และให้เกียรติผู้อื่น คือหัวใจของความเป็นนักศิลปะการต่อสู้ที่แท้จริง
***********
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-ทีมภาพคลิก
ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000086453