| | |

โมโตฮิโร่ ฟูกากูซา เซนเซ

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับคนที่ถูกขนานนามว่า “บิดาแห่งวิชา ไอคิโด ในประเทศไทย” หรือก็คือ โมโตฮิโร่ ฟูกากูซา เซนเซ ชื่อไทยคือคุณสมชาย นั่นเองครับ

เมื่อวิชาไอคิโดเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2504 ท่านเป็นหนึ่งในคณะอาจารย์ญี่ปุ่นกลุ่มแรกๆที่เดินทางมาสอนในประเทศไทย แต่ท่านเป็นอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านเดียวที่อยู่ในประเทศไทยนานที่สุด (ตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี) ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกในช่วงเวลาเริ่มต้นของวิชาไอคิโดในประเทศไทย นักเรียนไอคิโดในประเทศไทยเรียกท่านว่า “อาจารย์ใหญ่”

ปัจจุบันอาจารย์ฟูกากูซาได้สายดำชั้น 8 ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไอคิโดประเทศไทย และยังได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ไอคิโดแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นอาจารย์ควบคุมเทคนิคการฝึกสอนภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

ฟูคาคุซาเซนเซเกิดที่เมือง FUAUI หลังจากเรียนจบระดับมัธยมปลาย ก็ได้ไปศึกษาต่อที่โตเกียว อยู่ที่มหาวิทยาลัย Asia University คณะเศรษฐศาสตร์ (ECONOMICS)

เมื่ออายุ 11 ขวบ อาจารย์ใหญ่เริ่มสนใจยูโดก่อน และก็เรียนยูโดมาตลอดจนจบมัธยม พอเข้ามหาวิทยาลัยตอนอายุ 18 ปีก็ได้สนใจและเรียนวิชาไอคิโดมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัยมา

หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Asia University ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ทางกรมพลศึกษาประเทศไทยได้ติดต่อมาที่สำนักงานใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเอเชียประเทศญี่ปุ่น เชิญมาเป็นอาจารย์สอนวิชาไอคิโด ท่านจึงเดินทางมาประเทศไทยทันที โดยเริ่มสอนที่กรมพลศึกษาก่อนร่วมกับอาจารย์ 4-5 คน

นอกจากนั้นอาจารย์ใหญ่ยังสอนตำรวจ ทหาร ที่กองปรบปรามสามยอด เยาวราช และสอนอีกหลายๆ แห่ง ในช่วงนั้น อาจารย์ใหญ่ยังมีธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น อยู่ที่ซอยอโศก แต่อาจารย์ใหญ่ถือว่าอาชีพหลักของท่านคือการสอนไอคิโด

สิ่งที่อาจารย์ใหญ่มักจะสอนนักเรียนไอคิโดก็คือ

“ไอคิโดเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะไอคิโดไม่ใช่กีฬา ไม่ใช่การแข่งขันที่ต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องพยายามสู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทักษะ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำตัวเป็นคนดี ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ต้องมีคำว่า Peace (ความสงบสุข) ในหัวใจ ในความคิด ดังนั้นถ้าเราชนะก็ต้องมีคนที่แพ้เป็นฝ่ายเสียใจนี้เรียกว่า กีฬา แต่ไอคิโดไม่ใช่”

“นักไอคิโดทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีการต่อสู้กัน เรียนก็เรียนด้วยกัน ฝึกก็ฝึกด้วยกัน ทุกคนเกิดความสามัคคี ทั้งในประเทศและเอเชีย”

“การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ประสบการณ์ของตัวเอง และการใช้สมอง อย่างเช่นเวลาฝึกด้วยกันกับเพื่อน เพื่อนทำเราเจ็บ เราทำเพื่อนเจ็บก็ต้องฝึกฝนต่อไป และใช้สมองคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเจ็บ และป้องกันอันตรายต่อคู่ต่อสู้ของเรา”

“เราต้องรู้จักการ Concentrate (การมีสมาธิ จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่จะทำ การกำหนดลมหายใจ เข้าออก) ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามการเรียนหนังสือ การทำการบ้านหรือการเรียนไอคิโด ต้องตั้งใจกับสิ่งนั้นๆ ไม่ฟุ้งซ่านไม่อย่างนั้นจะทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเรียนไอคิโดก็ต้องคิดถึงไอคิโดอย่างเดียว ไม่คิดถึงบ้าน ไม่คิดถึงแฟน ไม่คิดถึงสิ่งใด นอกจากไอคิโด และถ้าท่องจำคำศัพท์ได้ด้วย ผมก็ภูมิใจมาก”

บทสัมภาษณ์โมโตฮิโร่ ฟูกากูซา เซนเซนี้ คัดลอกและปรับแต่งมาจากหนังสือที่ระลึกครบรอบวาระ 40 ปีไอคิโดในประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=kpWwDSgCBE4[/youtube]

Similar Posts

ใส่ความเห็น