บรู๊ซลี
|

ปรมาจารย์จีทคุนโด้ บรู๊ซลี

บรู๊ซลี

บรู๊ซลี

หนึ่งในนักศิลปะการต่อสู้ที่คนทั้งโลกรู้จัก ต้องมีชื่อเค้าคนนี้แน่นอนครับ บรู๊ซลี

บรู๊ซ ลี ( Bruce Lee) หรือ หลี่เสี่ยวหลง เกิดที่ซานฟรานซิสโก เป็นดาราจีนที่โด่งดังในระดับฮอลลีวู้ด ด้วยความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้แบบจีทคุนโด้ เขาสามารถพูดอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และยังเป็นแชมเปี้ยนเต้นชะชะช่า ในปี 1997 นิตยสารเอ็มไพร์ (อังกฤษ) จัดเขาเป็นหนึ่งใน 100 ดารานำตลอดกาล

บรูซ ลี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 บรูซ ลี เป็นชื่อที่นางพยาบาลตั้งให้ เพราะมันเรียกง่ายและฟังดูเป็นฝรั่งดี เหมาะกับ ซานฟรานซิสโก เมืองที่เขาถือกำเนิดขึ้นมา ส่วนชื่อจีนคือ ลี เสี่ยวหลง หรือ ลี จุน ฟาน ซึ่งมีความหมายว่า “เจ้ามังกรน้อย” ที่น่าแปลกใจมาก ๆ คือ บรูซ ลี ไม่เพียงเกิดในปีมะโรงซึ่งถือเป็นปีมังกรตามความเชื่อของชาวจีนเท่านั้น แต่เขายังเกิดในช่วงเวลาของมังกรระหว่าง 06.00-08.00 น. ของเช้าวันนั้นด้วย

ลีเกิดในช่วงที่ ลีฮอยฉวน พ่อของเขาซึ่งเป็นนักแสดงงิ้วที่โด่งดังมากกำลังไปตระเวนแสดงพร้อมกับคณะ งิ้วกวางตุ้งในอเมริกา พ่อของลีเป็นชาวจีนเต็มตัว ขณะที่ เกรซ แม่ของเขานั้นเป็นลูกครึ่งจีน-เยอรมัน มังกรน้อยเลยได้ถือสัญชาติอเมริกันโดยปริยาย หลังจากให้ลีไปปรากฏตัวในหนังขณะอายุได้เพียงสามเดือน พ่อของเขาก็พาครอบครัวกลับฮ่องกง ดินแดนที่ทำให้หนูน้อยได้พบมังกร

เมื่อเริ่มย่างเข้าวัยรุ่น ลี เสี่ยวหลงเข้าก๊วนกับพวกแก๊งเด็กเกเรแถวบ้าน ออกชกต่อยตะลุมบอนกับเด็กแก๊งอื่นไปทั่ว วันหนึ่งเขาโดนอัดจนเละเพราะไม่มีพรรคพวก ความเจ็บปวดและพ่ายแพ้เร้าให้ลีหาวิธีไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ปี 2496 เส้นทางจอมยุทธ์ของลีก็เริ่มต้นขึ้น เขาฝากตัวเป็นศิษย์กับ อาจารย์ยิปมัน ปรมาจารย์มวยแห่งหวิงชุน แรกเริ่มการศึกษาศิลปะป้องกันตัวทำให้มังกรน้อยผยอง ไม่เกรงใคร เขาแต่งตัวแบบคนจีนโบราณไปไหนมาไหน หากใครสบตา เขาก็ไม่รอช้าที่จะท้าตีด้วยวิชามวยกังฟู

ยิปมัน บรู๊ซลี
ยิปมัน และ บรู๊ซลี

บรู๊ซลีศึกษากับอาจารย์ยิปมันได้สี่ปี ศิลปะการต่อสู้มีมนต์ขลังสะกดเด็กหนุ่มให้สนใจใคร่รู้และทุ่มเทกับมันหนัก ขึ้น เขาละทิ้งการเรียน และหันหน้าเอาจริงกับกังฟู ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศในด้านการต่อสู้ให้ได้ แต่ลีฮอยฉวน ซึ่งแม้จะเป็นอาจารย์สอนมวยให้เป็นคนแรก ก็ไม่คิดว่ากังฟูจะให้อนาคตสดใสแก่ลูกชายได้ เมื่อลีอายุได้ 19 ปี วันที่ 29 เมษายน 2502 พ่อส่งเขาขึ้นเรือไปอเมริกา เพราะเกิดเรื่องคุกรุ่นจากการที่เขาปะทะกับแก๊งนักเลง และแม่ของเขาต้องค้ำประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาของตำรวจ ซึ่งทำให้การเดินทางล่าช้าออกไป ลีจากบ้านมามีเงินติดตัวเพียงร้อยเหรียญ พร้อมคำประกาศตนว่า สักวันหนึ่ง เขาจะต้องเป็นอย่าง เจมส์ ดีน และ จอห์น เวย์น ให้ได้

เขาเข้าเรียนในสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และทำงานพิเศษด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟและเริ่มต้นสอนศิลปะการป้องกันตัวให้กับคนที่มาว่าจ้างไปพร้อม ๆ กัน

ชื่อเสียงของบรูซเริ่มโด่งดังจนถึงขนาดที่ว่าโรงเรียนสอนศิลปะการป้องกันตัวของญี่ปุ่นในซีแอตเทิล ต้องขอมาทดสอบฝีมือด้วย

ภาพยนตร์เรื่องแรกของบรู๊ซ ลี ที่ได้ฉายโรงในอเมริกาคือ Xi lu xiang หรือ My Son, Ah Chung (1950) ตอนที่เขายังอายุสิบขวบ จากนั้นลีแสดงภาพยนตร์มาตลอด เขาได้เข้าร่วมเป็นดารารับเชิญในทีวีมาตั้งแต่ปี 1966 รวมถึงเรื่อง The Green Hornet หรือ เพชรฆาตหน้ากากแตน ที่เคยฉายในเมืองไทยสมัยก่อน แต่ภาพยนตร์ที่โด่งดังในอเมริกาคือ Tang shan da xiong หรือ Fists of Fury (หนังปี 1971 ฉายในอเมริกาปี 1972)

บรู๊ซพบกับลินดา ลี แคดเวลล์ ศรีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันขณะที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และโรงเรียนของเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ เขามีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทภาพยนตร์ของฮอลลีวู๊ดอย่าง มาร์โลวเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่นั่นกลับทำให้ดาราดังอย่างเจมส์ โคเบิร์น และสตีฟ แม็คควีน อ้อนวอนขอให้บรู๊ซช่วยรับเป็นศิษย์

ลียังมีอาชีพสอนกังฟูค่าตัวแพงถึง 275 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้จีนหลายเล่ม ในปี 1964 เขากับคู่หูเปิดรับนักเรียนกังฟูที่ไม่ใช่เอเชียอย่างเป็นทางการในเมืองโอ๊กแลนด์ หลังจากสองปีก่อนเขาเคยเทรนคนผิวขาวคนแรกเล่นกังฟู และก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในปี 1964 มีสตูดิโอสอนกังฟูไม่จำกัดสีผิวเจ้าอื่นเปิดก่อนเป็นแห่งแรกในโลกที่ไชน่าทาวน์ ในลอสแอนเจลิส

ต่อมาบรู๊ซลีมีโอกาสได้รับบทเด่นในภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดเป็นเรื่องแรกใน ENTER THE DRAGON แต่แล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย บรูซป่วยด้วยโรคเส้นเลือดโป่งในสมอง ก่อนจะเสียชีวิตลงด้วยผลจากปฏิกิริยาต่อแอสไพริน ขณะที่มีอายุได้เพียง 32 ปีเท่านั้น

แม้บ๊รูซจะจากไปแล้วแต่ผลงานของเขาในลำดับต่อมาอย่างเรื่อง RETURN OF THE DRAGON ที่ร่วมแสดงกับชัค นอริส ก็ยังคงออกฉาย เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย GAME OF DEATH ที่บรู๊ซได้มีโอกาสเข้าฉากไว้ไม่กี่ฉากก็ได้รับการสานต่อจนสามารถ ออกฉายได้ในที่สุด

นอกจากผลงานในด้านภาพยนตร์ที่บรูซเหลือไว้ให้ผู้ที่ชื่นชอบแล้ว เขายังได้คิดค้นรูปแบบการต่อสู้ที่เรียกว่า Jeet Kune Do (จีทคูนโด) หรือวิถีแห่งการสกัดหมัด เขียนเป็นตำราเหลือไว้ให้นักต่อสู้รุ่นหลัง ๆ ได้ศึกษาด้วย

จีทคูนโดเป็นหลักการต่อสู้มือเปล่าที่บรูซคิดค้นขึ้นเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพื่อการกีฬา เขาได้นำเอาเทคนิคและข้อดีของศิลปะการต่อสู้ถึง 26 ชนิด อาทิ กังฟู มวยปล้ำ มวยไทย มวยสากล คาราเต้ ยิวยิตสู ฯลฯ ไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยมีท่วงทำนองที่ลื่นไหลและยืดหยุ่นมากขึ้น

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=v6F-77IwXMw[/youtube]

Similar Posts

ใส่ความเห็น