| | |

บทวิเคราะห์สายดาบโดยครูแปรง

บทวิเคราะห์สายดาบไทย โดย ครูแปรง

ดาบเหนือ (ดาบสะบัดชัย)
…..ท่าแม่ไม้ (สางคลุม) ควงเป็นแบบเลข 8 ย้อนเกร็ด เลข 8 แนวนอนสลับซับซ้อนวนพันรอบตัว ทั้งซ้ายขวา หน้าหลัง บิดบัวบาน เกี้ยวเกล้า แทงวัน สีไคล ตกกลีบแม่ฮาย(ไฮ) ฯลฯ วิถีทางดาบไม่ต่างจาก ดาบอาทมาต ทางเหนือแต่อย่างใด ที่น่าสังเกตดาบเหนือ จะใช้ดาบเล็กและสั้นกว่าดาบทางภาคกลาง เชี่ยวชาญชำนาญการปาด เฉือน ลดเลี้ยว (ตามเชิงขุม) ตัดข้อตัดเอ็น เป็นเลิศ ๛ด

ดาบใต้
…..เคล็ดดาบใต้ แนวเหมือนดาบเหนือแต่เป็นแนวจ้วง และฟัน บนลงล่าง วิถีดาบและแนวแรง เป็นดั่งการเหวี่ยงลูกตุ้มเหล็ก จากปลายโซ่ ตีเกี่ยวล้วง จ้วงแทงและกดดาบปรปักษ์ได้เป็นอย่างดี ตามเคล็ดวิชาเหนือและใต้ ครูบาอาจารย์ว่ากันว่าสางคลุมทางเหนือและควงทางใต้เป็นการแก้ทางกันไปในตัว ๛

ดาบ สายกรมหลวงชุมพรฯ
…..เน้นตีแบบไม่ควงไม่วนดาบ หรือจะเรียกว่าเป็นการวนข้างหน้าก็ได้ ใช้ข้อมือสะบัดตีอย่างรวดเร็วดั่งประกายไฟ ดูแทบไม่ทัน ครบ ๑๒ ไม้ในอึดใจ ได้กลิ่นหวายซ้อมเหม็นไหม้ฟุ้งกระจาย น่าตื่นตาตื่นใจ ที่สำคัญ ๑๒ ไม้นี้ เมื่อคล่องแล้ว กลับนำมาใช้ตีได้ทั้งอาวุธ ยาวและสั้น บางครั้งก็จะนั่งย่อง ๆ ยกดาบคุม ลด ล่อ ไปมา แล้วจึงโลน (กระโจน)เข้าฟัน ๓ – ๔ ไม้ ในครั้งเดียว ก็จะกลับหัวสนาม และเริ่ม ลด ล่อ คลุมเชิงกันใหม่ ดูแล้วเพลงดาบ กลดาบลักษณะนี้น่าจะเป็นเพลงกระบี่อันสุดยอด เพราะใช้ข้อสะบัด ทำให้เกิดความเร็ว และแรง กว่าการควงดาบทั่ว ๆ ไป นับเป็นวิชาดาบที่น่าศึกษาอีกวิชาหนึ่ง ๛

ดาบอาทมาต
…..“วิชาอาทมาต” นับเป็นนับเป็นวิชาแห่งชายชาตรี นับเป็นนักรบที่สูงชั้นกว่า นักรบที่สวมเกราะ เพราะขึ้นชื่อว่าชายชาตรี ย่อมมีดีทั้งนอกแลใน คือมีวิชาการต่อสู้เป็นเลิศ คนเดียวอาจสู้คนได้เป็นร้อย อย่างเช่น องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ พระยาสีหราชเดโช (น้อย) ท่านวีระมหาเทพ เป็นต้น น่าเสียดายที่สรรพวิทยาอันสุดวิเศษคู่ชาติไทย ได้ถูกทำลาย สูญหาย และถูกละเลยไม่เห็นความสำคัญไปหมดสิ้น ยังดีที่ยังมีผู้สืบทอดส่งต่อ แม้อาจกล่าวได้ว่าอาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนัก ก็ยังมีวิถีให้สืบค้น

…..ในช่วงชีวิตของผู้เขียน นับว่าโชคดีได้พบสายดาบอาทมาต ถึงสองสาย คือสายทางเหนือ และสายทางใต้ คำกล่าวที่เล่าขาน สืบทอดมาจากปรมาจารย์ทายาทขุนศึก ที่เคยออกรบจริง ที่กล่าวว่า ขุนศึกหนึ่งท่านสามารถสู้ศึก ได้เป็นร้อยดูไม่เกินจริงนัก (แม่ทัพจีนยังสู้ได้ตั้งหมื่น) เมื่อเห็นหลักวิชาดาบ ท่าเท้า(สามขุม) กลรบ กลศึก รุกรับรอบตัวจริง ๆ ดาบสองมือ พลิกแพลง ได้รอบตัว ทิ้งกลิ้งทั้งม้วนตัว ใช้ได้ทุกอิริยาบท วิถีดาบหรือแม่ไม้ควงวนเป็นเลข 8 ทั้งแนวตั้ง แนวนอน แนวเฉียง ทำให้เกิดมรรค หรือวิถี แห่งดาบอย่างไม่รู้จบสิ้นเป็นอัศจรรย์

…..อาทมาต มิใช่เน้นที่สำนัก หากแต่เน้นที่บุคคลที่มีความสามารถ เพียงผู้ใด มีดีถึงขั้นมาตรฐานที่กำหนด ผู้นั้นย่อมเข้าถึงซึ่งคนดีศรีอยุธยา เข้าสู่ “ กองอาสาอาทมาต ” มีค่าควรคู่กับการปกป้องราชบัลลังก์ อาณาประชาราษฎร์ แลแผ่นดิน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ดุจนักรบแห่งเทพจุติ ๛

…..หมายเหตุ * กล่าวถึง กองอาทมาต ว่าเป็นกองทหารหน่วยหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ตามเมืองหน้าด่าน และหัวเมืองสำคัญ ทำหน้าที่พิเศษ เช่น เป็นกองทหารม้า เคลื่อนที่เร็ว จู่โจม และหาข่าว บ้างก็ว่า เป็นกองรบ อันประกอบไปด้วยผู้ที่ชำนาญวิชาอาคม นำหน้า กองทัพ โดยมากจะเป็น ชาวมอญ ซึ่งมีความชำนาญใน อาวุธ ประเภทดาบไทย ดาบสองมือเป็นอย่างยิ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ได้กล่าวถึงการรบของ กองอาทมาต ไว้เพียง ๒ ครั้ง ดังนี้

…..พ.ศ. ๒๓๐๒ การรบที่ อ่าวหว้าขาว ประจวบคีรีขันธ์ นั้น ขุนรองปลัดชู ได้นำ กองอาทมาต ๔๐๐ คน เข้าสกัดต้านข้าศึก ที่รุกรานด้วย อาวุธสั้น ถึงขั้นตะลุมบอน แต่ด้วยกำลังพลน้อยและขาดกองหนุน ถูกพม่าใช้กองช้างไล่เหยียบตาย พวกที่เหลือ ก็ถูกต้อนลงทะเล จมน้ำตายไปสิ้น ด้วยเหตุขาดกำลังหนุน

…..พ.ศ. ๒๓๐๙ กองอาทมาต อันนำโดย พระยาพระคลัง เข้าตีค่ายพม่าที่ ปากน้ำพระประสบ จนเกือบจะตีค่ายได้ หากแต่ขาด เครื่องกำบังตนในการประชิดค่าย จึงถอนกำลังกลับ และรุกตีใหม่ แต่เสียรู้กลแกล้งแพ้ของพม่า ถูกข้าศึกโอบล้อม ทัพพระยาพระคลัง ก็แตกถอยร่นกลับมา ดีว่าได้ กองทัพพระยาตาก คุ้มกันด้านหลัง ช่วยรั้งข้าศึกเอาไว้ได้.

ดาบบ้านไชว (ชะไว)
…..คุณตา ผู้ถ่ายทอด วิชาดาบไทยให้กับผู้เขียน ท่านเป็นชาวบ้านไชว อ่างทอง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า หัวเมืองรอบ พระนครศรีอยุธยา นั้นเป็นที่รวมพลของ ทัพที่เกณฑ์มาจากที่ต่าง ๆ มาตั้งค่ายสร้างเมือง อยู่จนกลายเป็นชุมชนมาจน ปัจจุบันนี้ ที่บ้านไชว และในแถบใกล้เคียง เมื่อมีงานบุญ งานวัด งานแต่งงาน สำนักดาบต่าง ๆ ในบริเวณนั้นจะมีการนำ นักดาบในสำนักมาร่วมงาน ตีดาบแข่นกันเองบ้าง รำอวดกันบ้าง ตีดาบ รอขบวนบวชบ้างบางทีก็ร้องเชิญชวน เพื่อนต่างสำนัก มาประดาบกัน พอเป็นที่ครื้นเครง และอวดสาว ต่างค่ายต่างสำนักกัน เลิกแล้วก็เป็นเพื่อนกัน ขอโทษขอโพยกันก็แล้ว

…..ดาบบ้านไชว นั้นมีความคล้ายคลึง ดาบสายกรมหลวงชุมพร เป็นอย่างมาก ที่แตกต่างคือ ดาบบ้านไชว เน้นย่อต่ำมาก ๆ ถึงขั้นนั่งตีกันเลยที่เดียว และที่สำคัญการรำดาบของดาบบ้านไชว จะไม่รำเหมือนสำนักดาบทั่วๆ ไปไม่ขึ้นพรหม พอกราบรำลึกถึงครูบาอาจารย์เป็นเบื้องต้นเสร็จ ท่านก็จับดาบขึ้นรำเข้าไม้ ลดล่อกรายดาบ เข้าหาปรปักษ์ตามกลดาบ เพื่อตีเลยทีเดียว ( กลวิธีนี้คล้ายกับ การรำไหว้ครูของมวยไชยา และการรำมวยแบบโบราณมาก ) ทำให้ผู้เขียนซึ่งถูกบังคับให้ลงเล่นกับท่านด้วย และกำลังขึ้นพรหมอยู่ ถึงกลับต้องรีบตาลีตาลานคว้าดาบขึ้นปิดทาง ด้วยไม้รำ แก้แทบไม่ทัน ท่านอุทานคำเดียวว่า “แก้เป็นนี่” คือท่านใช้ไม้รำ เข้าทำเลย ต้องแก้ด้วยไม้รำให้ข่มกันได้ หรือรับกันได้ ท่านก็จะเปลี่ยนไม้ไปเรื่อย ๆ ไม่รำอวดโชว์ก่อนตี ดั่งประเพณีนิยมเพื่ออนุรักษ์แบบสำนักทั้งหลาย ทำให้เห็นมิติที่เป็นจริง ยิ่งขึ้น ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านอบรมสั่งสอนว่า “ไม้รำคือไม้เด็ด ไม้ตายของดาบไทย “ แบบแผนที่รำกันทุกวันนี้ จึงเป็นการรำ เผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะของวิชาดาบไทย เพื่อให้ยุทธศาสตร์ของเผ่าไทยให้ดำรงคงอยู่ต่อไป ๛

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=XRr7iKaVDaY[/youtube]

ขอบคุณบทความจาก ครูแปรง – ศูนย์ศึกษาสยามยุทธ์บ้านครูแปรง

Similar Posts

ใส่ความเห็น